Project Approach

โดย วิวรรณ สารกิจปรีชา

Project Approach คืออะไร
Project Approach เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ให้เด็กรูปแบบหนึ่ง ที่ให้โอกาสเด็กเลือกเรียนรู้ในสิ่งที่เด็กสนใจในสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวเด็ก โดยเชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ ตั้งคำถามในสิ่งที่ยังต้องการเรียนรู้หาคำตอบ รวมทั้งดำเนินการวางแผนสำรวจ สืบค้น บันทึก คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และคิดอย่างมีวิจารณญาณ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล และความรู้ต่างๆ เด็กเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยประสบการณ์ตรงหลากหลายวิธี แล้วสุดท้ายเด็กและครูร่วมกันสรุปเรียบเรียงขั้นตอนการเรียนรู้และสิ่งที่เรียนรู้ออกมาเป็นชิ้นงานและนิทรรศการอันเป็นการสรุปความคิดรวบยอดที่ดี ต่อจากนั้นก็ทำการเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้รับรู้ ซึ่งเป็นการเรียบเรียง ทบทวน วิธีการ ทักษะ และข้อมูลในการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นระบบ การเรียนรู้แบบ Project Approach จะเป็นการเรียนรู้อย่างลุ่มลึกในสิ่งที่เด็กสนใจใกล้ตัว ซึ่งเปรียบเทียบได้กับการเรียนรู้ด้วยวิธีการการดำเนินการวิจัยเบื้องต้น

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า Project Approach เป็นการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับ Brain- Based Learning อย่างมาก และเหมาะสมกับการส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเองไปตลอดชีวิต การสืบค้นเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของเด็กทำให้การเรียนรู้มีความหมายต่อเด็กอย่างมาก การเรียนรู้ยังดำเนินไปในรูปแบบของ การบูรณาการ หลักวิชาและทักษะทางวิชาการต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างแยบยล และยังทำให้เด็กได้ใช้สมองทั้งซีกซ้าย – ซีกขวาร่วมกันอีกด้วย เช่น เด็กสังเกต คิดวิเคราะห์ หาเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็นำความคิดรวบยอดหรือสิ่งที่เรียนรู้ สร้างสิ่งจำลองที่สะท้อนการเรียนรู้เหล่านั้นอย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น อนึ่ง การจัดการเรียนรู้แบบ Project Approach นี้ ครูจะต้องไม่หลงทาง และตระหนักเสมอว่า เนื้อหาไม่ใช่สิ่งที่สำคัญแต่ทักษะและกระบวนการเรียนรู้ของเด็กสำคัญที่สุด ครูควรให้ความสำคัญกับประสบการณ์และความต้องการเรียนรู้ของเด็กเป็นหลัก ในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงหลักสูตรและทักษะต่างๆ ควบคู่ไปด้วย

การเรียนรู้แบบ Project Approach นี้ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ แต่ละระยะจะประกอบด้วยการเรียนรู้ 5 รูปแบบ ดังนี้คือ

การเรียนรู้ 3 ระยะ

Project Approach ระยะที่ 1 – เริ่มต้น

  • เด็กๆเลือกว่าจะศึกษาเรื่องอะไร โดยครูเป็นผู้ให้คำแนะนำ
  • เด็กๆอภิปรายว่า มีความรู้เดิมอะไร เกี่ยวกับเรื่องที่เลือกแล้วบ้าง ครูช่วยให้เด็กๆบันทึกความคิดของเด็กๆ ด้วยวิธีต่างๆ เช่น วาด ปั้น จำลอง ฯลฯ
  • เด็กๆบอกข้อสงสัยที่เด็กๆมีเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กๆจะเรียนรู้ และครูช่วยให้เด็กๆสรุปตั้งคำถามที่เด็กๆต้องการ เพื่อหาคำตอบในระหว่างการสำรวจสืบค้นครั้งนี้ และบันทึกคำถามเหล่านั้น
  • เด็กๆพูดคุยเกี่ยวกับว่าคำตอบที่เด็กๆจะสำรวจสืบค้นได้นั้น น่าจะเป็นอะไร อย่างไร เพราะอะไร ครูช่วยเด็กๆบันทึกความคาดคะเนของเด็กๆไว้ เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลในภายหลัง ซึ่งขั้นตอนนี้เปรียบเสมือนการตั้งสมมติฐานเบื้องต้น
  • ครูให้เด็กๆ ช่วยกันคิดว่าจะหาคำตอบให้กับคำถาม เพื่อตรวจสอบสมมติฐานของเด็กๆ ได้กันอย่างไรบ้าง

Project Approach ระยะที่ 2 – การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนรู้

  • ครูช่วยเด็กๆวางแผนการสืบค้นเพื่อเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ทั้งในห้องเรียน โรงเรียน และ/หรือ ชุมชน รวมถึงการจัดหาวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เด็กๆสนใจเรียนรู้ ที่จะสามารถตอบคำถามของเด็กๆได้ มาให้ความรู้กับเด็กๆ
  • เด็กๆใช้ของจริง / ภาพ / สิ่งพิมพ์ / หนังสือและคอมพิวเตอร์ในการสืบค้นข้อมูล โดยมีครูเป็นผู้ช่วยเหลือ
  • ในระหว่างกิจกรรมในวงกลมที่เด็กๆสามารถประชุมร่วมกัน และนำเสนอรายงานสิ่งที่เด็กๆค้นพบใน การทำกิจกรรมต่างๆเป็นระยะ ครูส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กๆถามคำถามและให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับ สิ่งที่เด็กๆแต่ละคนได้ค้นพบคำตอบหรือเรียนรู้ คาดคะเน และจัดกระทำแยกแยะ / วิเคราะห์ หาเหตุผล / สังเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับมา
  • เด็กๆวาดภาพ ถ่ายภาพ เขียนคำและป้ายต่างๆ สร้างกราฟและหรือแผนภูมิสิ่งที่เด็กๆวัดและนับ แล้ว เด็กๆก็สร้างจำลองสิ่งที่เด็กๆสนใจเรียนรู้กัน เมื่อเด็กๆเรียนรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เด็กๆสามารถพิจารณา ทบทวนและเพิ่มเติมหรือทำจำลองใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิมไปได้เรื่อยๆด้วย
  • ในช่วงเวลาของการรวบรวมข้อมูลนี้ เด็กๆ ควรได้ใช้ทักษะต่างๆ อย่างหลากหลายในการพิจารณา หา เหตุผลวิเคราะห์ข้อมูล และ สารสนเทศต่างๆ ด้วยวิจารณญาณว่าข้อมูลนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ และเรา ได้อะไรจากข้อมูลสารสนเทศต่างๆ เหล่านั้น

Project Approach ระยะที่ 3 – การสรุป Project

  • เด็กๆอภิปรายกันถึงหลักฐานต่างๆที่เด็กๆได้สืบและค้นพบที่ช่วยให้เด็กๆตอบคำถามที่เด็กๆตั้งไว้ได้ และเด็กๆจะได้เปรียบเทียบสิ่งที่เด็กๆเรียนรู้กับความรู้เดิมของเด็กๆว่าตรงกันหรือไม่รวมถึง เปรียบเทียบกับการคาดคะเนของเด็กๆที่ทำไว้ตั้งแต่ระยะแรกด้วย รวมถึงพิจารณาหาเหตุและผล
  • เด็กๆช่วยกันวางแผนจัดแสดงให้ผู้ปกครองและเพื่อนๆ และบุคคลอื่นๆได้เห็น วิธีการเรียนรู้ กิจกรรม ผลงาน และสิ่งที่เด็กๆค้นพบเรียนรู้ ซึ่งเปรียบเสมือนการลำดับเหตุการณ์ และการสรุปความคิดรวบ ยอดอีกครั้งหนึ่ง
  • เด็กๆลงมือจัดแสดงเพื่อแบ่งปันความรู้และเรื่องราวเกี่ยวกับ “ Project Approach ” ของเด็กๆ ครูจะได้ ช่วยสนับสนุนส่งเสริมนักสืบรุ่นจิ๋วเหล่านี้วางแผน และดำเนินการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กๆทำ และค้นพบกันอย่างสนุกสนาน กระตือรือร้นและภาคภูมิใจ

การเรียนรู้แบบ Project Approach มีโครงสร้างของการเรียนรู้ 5 รูปแบบของทั้ง 3 ระยะ ดังนี้ :

การเรียนรู้ 5 รูปแบบ
รูปแบบการเรียนรู้ ระยะที่ 1 เริ่มต้น ระยะที่ 2 พัฒนา ระยะที่ 3 สรุป
  1. 1. การสนทนาพูดคุย ปรึกษา
  • แบ่งปันความรู้และประสบการณ์เดิมเกี่ยวกับเรื่องที่จะศึกษา
  • การศึกษาในและนอกห้องเรียน และการสัมภาษณ์
  • ทบทวนการศึกษาทั้งในและนอกห้องเรียน
  • เรียนรู้จากแหล่งความรู้ต่างๆ
  • เตรียมที่จะแบ่งปันเรื่องราวของ project
  • ทบทวนและประเมิน project
  1. 2. การศึกษานอกห้องเรียน
  • เด็กพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์เดิมที่เด็กเคยได้รับกับผู้ปกครอง
  • สำรวจสืบค้น ณ แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน
  • สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ณ แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน และที่ได้เชิญเข้ามาตอบคำถามเด็กในห้องเรียน
  • ประเมิน project ผ่านสายตาของผู้อื่นนอกกลุ่มของตน
  1. 3. การสร้างแบบจำลองทดแทน
  • วาดภาพ เขียน สร้าง เล่นบทบาทสมมติ ฯลฯ เพื่อแบ่งปันความรู้ และประสบการณ์เดิมของเด็กๆ
  • ภาพร่าง และบันทึกคร่าวๆ จากการไปศึกษานอกห้องเรียน
  • วาดระบาย เขียน แผนภูมิทางคณิตศาสตร์ แผนที่ ฯลฯ เพื่อแสดงให้เห็นการเรียนรู้ใหม่
  • ย่อและสรุปเรื่องราวของการศึกษาเพื่อแบ่งปันเรื่องราวของ project กับผู้อื่น
scope="row" nowrap
  1. 4. การสำรวจสืบค้น
  • ตั้งคำถามจากพื้นฐานความรู้เดิม
  • สำรวจสืบค้นตามข้อสงสัยของคำถาม
  • การไปเรียนรู้นอกห้องเรียน และการค้นคว้าในห้องสมุดแล้วตั้งคำถามใหม่ๆ
  • คาดคะเนเกี่ยวกับคำถามใหม่ๆ
  1. 5. การจัดแสดง
  • แบ่งปันการสร้างแบบจำลองต่างๆ ที่หลากหลายของประสบการณ์ส่วนตัวของเด็กแต่ละคนในเรื่องที่ศึกษา
  • แบ่งปันการสร้างแบบ จำลองต่างๆ ของประสบการณ์และความรู้ใหม่
  • การบันทึกต่อเนื่องของงาน project
  • สรุปการเรียนรู้ทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ project

การเรียนรู้แบบ Project Approach นี้ เป็นการเรียนรู้ที่หลอมรวมทักษะวิชาต่างๆ เข้าด้วยกันได้อย่างแนบเนียน ทั้งด้านภาษา คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สุขศึกษา เด็กสนุกกับการหาความรู้ ประสบการณ์ด้วยตนเอง และมีความสนใจอย่างลุ่มลึก แท้จริงดังเห็นได้จาก Project ที่นำมาเสนอในวารสารเล่มนี้

Project Approach ดีอย่างไร

ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว Project Approach เป็นเพียงวิธีการจัดการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งเท่านั้น แต่วิธีการของ Project Approach นั้น มีขั้นตอนที่ง่ายสำหรับครูจะดำเนินการตามรูปแบบที่ Dr.Lillian Katz และ Dr.Sylvia Chard ได้คิดกรอบขึ้นมาดังที่เสนอไปให้รับทราบแล้ว อีกทั้งการเรียนรู้ของเด็กวิธีนี้ยังสอดคล้องกับการทำงานของสมอง และ ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาศตวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๒ - ๒๕๖๑) ด้วย

แนะนำแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม

website

www.projectapproach.org เป็น website ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบ Project Approach ที่แสดงให้เห็นถึงวิธีการที่ดีที่สุดของการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้เนื้อหาจะเป็นภาษาอังกฤษ

www.kukai.ac.th เป็น website ของโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ มีหน้าของ Project Approach ที่มีการอธิบายเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการจัดการเรียนรู้ 3 ระยะ และมีภาพเด็กๆ แต่ละห้องเรียน ทำ Project Approach ในแต่ละระยะ ภาพต่างๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นการเรียนรู้อย่างบูรณาการของเด็กๆ และความสุขที่เด็กๆ ได้รับในการเรียนรู้ ความภาคภูมิใจ

โรงเรียน

  • อนุบาลมณีรัตน์ ฯลฯ
  • อนุบาลกุ๊กไก่ จัดการเรียนรู้แบบ Project Approach ปีละ 1 ครั้ง สำหรับทุกห้องเรียน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือน ธันวาคม รวมระยะเวลาประมาณ 7 สัปดาห์ และเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมนิทรรศการของนักเรียนทุกปีการศึกษา ในเดือน ธันวาคม ผู้ต้องการเยี่ยมชมนิทรรศการ ขอให้ติดต่อแจ้งล่วงหน้า
    e-mail : kukai@kukai.ac.th
    โทรศัพท์ : 0-2249-0081-3
    โทรสาร : 0-2249-4001
    โดยแจ้งชื่อ และที่อยู่ เพื่อโรงเรียนจะทำการส่งหนังสือเชิญไปให้