โครงงานสัตว์น้ำ

ชั้นอนุบาล 2 ห้องปะการัง คุณครูบรรเจิด บุตรหึง โรงเรียนอนุบาลมณีรัตน์
โดย อ. เกศินี วัฒนสมบัติ และคุณครูบรรเจิด บุตรหึง

ที่มาของโครงงาน
ครูให้เด็กๆ เสนอโครงงานที่สนใจอยากเรียนรู้ แรกๆ เด็กๆ เสนอกันมาหลากหลายมาก คุณครูยังไม่สรุป ให้กลับบ้านไปคิดให้แน่ใจหรือไปพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ที่บ้านมาก่อนว่าสนใจอยากเรียนเรื่องอะไรมากที่สุดเช้าวันต่อมา คุณครูให้เด็กๆ เสนอแบบใหม่ โดยการวาดภาพและนำเสนอทีละคนพร้อมบอกเหตุผล จากนั้นคุณครูได้นำเรื่องที่สัมพันธ์กันกรุ๊ปด้วยกันมีดังนี้

จรวด 4 คน รถไฟ 4 คน
ไดโนเสาร์ 1 คน ภาวะโลกร้อน 1 คน
สัตว์น้ำ 7 คน เจ้าหญิง 3 คน
ดวงดาว 1 คน ไฟฟ้า 3 คน
เรือ 1 คน

หลังจากตัวแทนกลุ่มออกมาชักจูงเพื่อน คุณครูใช้วิธีการโหวตโดยการยกมืออีกครั้ง ผลปรากฎว่าเรื่องสัตว์น้ำได้คะแนนมากที่สุดคือ 7 เสียง เด็กๆ ก็ตกลงกันเรียนโครงงานสัตว์น้ำกันคะ

ด้านวิทยาศาสตร์

การเรียนรู้ทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ เป็นการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต จากการเรียนโครงงานสัตว์น้ำ เด็กๆ ได้ร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เช่น การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 การสังเกต การ เปรียบเทียบ การทดลอง จม-ลอย สัตว์น้ำจำลอง การชิมรสชาติของปลาที่ผ่านการปรุงอาหารแบบต่างๆ เช่น ทอด ย่าง นึ่ง และทดลองทำปลาแดดเดียว เด็กๆ ได้ฝึกคิดหาคำตอบอย่างมีเหตุผลและการตั้งคำถาม ซึ่งทักษะต่างๆ เหล่านี้สามารถเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ต่อไป ยกตัวอย่างกิจกรรมการทดลองทำปลาแดดเดียว

คุณครูและเด็กๆ ได้นำปลามาคนละ 1 ตัว เป็นปลาน้ำจืด ปลาที่น้ำมาส่วนใหญ่จะเป็นปลานิล ปลาสลิด ปลาทับทิม ปลาช่อน หลังจากนั้นคุณครูได้แบ่งเด็กนักเรียนเป็นกลุ่ม 5 กลุ่ม ตามวันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ และเรียนรู้การทำปลาแดดเดียว

  1. คุณครูแบ่งปลาให้เด็กๆ ได้สัมผัสปลาและสำรวจส่วนต่างๆ ของปลา
  2. คุณครูให้เด็กๆ ได้เปรียบเทียบปลาว่ามีสีอะไรบ้าง ปลาตัวไหนใหญ่ ตัวไหนเล็ก ตัวไหนหนัก ตัวไหนเบา และบอกชื่อปลาชนิดต่างๆ
  3. เด็กๆ ได้ดมกลิ่นของปลาสดๆ
  4. คุณครูให้เด็กๆ สังเกตปลาก่อนทำปลาแดดเดียวเป็นอย่างไรและหลังทำเป็นอย่างไร
  5. ได้สังเกตสิ่งที่อยู่ข้างในตัวปลาว่ามีอะไรบ้าง เช่น อึของปลา ไส้ของปลา ก้างปลา เนื้อปลา และเหงือกปลา พอคุณครูเอ่ยคำว่าขี้ปลา เด็กๆ จะเอามือปิดจมูกทันทีเพราะกลัวเหม็น ซึ่งเด็กๆ สามารถนำเอาไปเปรียบเทียบกับของคนได้ (ตลกมากคะ) แต่พอเด็กๆ ได้ดมเด็กๆ ก็บอกว่าไม่เห็นเหม็นเลย

ขั้นตอนการทำปลาแดดเดียว

  1. คุณครูถอดเกล็ดปลาให้เด็กๆ ดู และเด็กๆ ได้นำปลาไปล้างน้ำ
  2. นำปลามาใส่เครื่องปรุงหรือเรียกว่าหมักปลา
  3. ให้จมูกดมปลาอีกรอบเพื่อเปรียบเทียบกันกับปลาที่ยังไม่ได้หมักว่ามีความแตกต่างกันไหม
  4. นำปลาไปตากแดดโดยให้เด็กๆ วางปลาในถาดเอง
  5. นำปลาไปทอดและชิมรสชาติ เด็กๆ ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า อร่อยจังเลยอยากกินอีกคะ

ด้านศิลปะ

เด็กๆ ได้ทำศิลปะต่างๆ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการและทักษะทางด้านกล้ามเนื้อมือหรือกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น การปั้นดินเหนียวให้เป็นสัตว์น้ำ การตัดกระดาษประดิษฐ์เป็นชิ้นงาน การพับ ขูดสีตามจินตนาการ ประดิษฐ์โมบายปลาจากเศษวัสดุ ประดิษฐ์แมงกะพรุน และปั้มนิ้วมือต่อเติมภาพตามจินตนาการ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เด็กๆ ได้รับความสนุกสนานกับการเรียนรู้อย่างมีความสุข มีจินตนาการ อารมณ์ดี ความคิดสร้างสรรค์ และรวมถึงมีสุขภาพจิตที่ดีด้วย

ด้านคณิตศาสตร์

เด็กๆ ได้ฝึกวัดโดยการใช้ไม้บรรทัด วัดเพื่อเปรียบเทียบความยาวของปลา เช่น ปลานิลยาว 10 เซนติเมตร ปลาช่อน ยาว 20 เซนติเมตร ปลาทับทิม ยาว 15 เซนติเมตร ปลาดุก ยาว 20 เซนติเมตร และได้คาดคะเนน้ำหนักของปลา หนัก-เบา , ใหญ่-เล็ก และได้นับหนวดของปลาหมึกยักษ์จากรูปภาพและหนวดของปลาหมึกกล้วย

ด้านภาษา

เด็กๆ ได้เรียนรู้ภาษาจากสิ่งต่างๆ เช่น การอ่านบัตรคำจากชื่อปลาชนิดต่างๆ การเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับปลาจากประสบการณ์ที่พบเห็น และฟังคุณครูเล่านิทานเกี่ยวกับปลา เช่นนิทานใต้ท้องทะเลลึก ชาวประมงจับปลา ปลาวาฬขี้โมโห สัตว์น้ำ ดูโปสเตอร์ปลาน้ำเค็ม ปลาน้ำจืด ดู DVD และเล่าเรื่องจากภาพตามจินตนาการ กิจกรรมที่สนใจอีกอย่างคือ คุณครูได้ให้เด็กๆ วาดภาพระบายสีและแต่งนิทานแบบสั้นๆ ตามจินตนาการ พร้อมกับอาสามาโชว์ให้คุณพ่อคุณแม่ดูและฟังนิทานจากลูกๆ ในวันเยี่ยมชมห้องเรียนกิจกรรมนี้เด็กๆได้แสดงออกถึงความสามารถและศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่คะ

ด้านสังคม

การเรียนรู้และการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสังคมจากโครงงานสัตว์น้ำซึ่งเด็กๆ ได้ทำงานกลุ่มตามหัวข้อที่ได้รับมอบหมาย เช่น สัตว์น้ำที่รู้จักมีอะไรบ้าง ประโยชน์ของสัตว์น้ำมีอะไรบ้าง หลังจากนั้นเด็กๆ ก็ได้นำเสนอผลงานกลุ่มที่หน้าชั้นเรียน จากกิจกรรมนี้ได้ฝึกให้เด็กๆ ได้แสดงความคิดเห็นและยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้จักแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ และได้ฝึกการเป็นผู้นำผู้ตามที่ดี ฝึกความมั่นใจ กล้าพูด กล้าแสดงออกต่อหน้าผู้อื่น รวมทั้งกิจกรรมที่มีการนำเสนอโครงงานกับผู้ปกครองสามารถนำเสนอได้ดี ทำให้คุณพ่อคุณแม่ภูมิใจ

การจัดมุมบูรณาการตามโครงงาน

ในห้องเรียนของเราจะจัดเป็นมุมให้สอดคล้องกับโครงงาน เช่น มุมตู้ปลา ซึ่งมุมนี้เด็กๆ จะชอบมาก คุณครูจะฝึกให้เด็กๆ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และมีจิตใจที่อ่อนโยนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับผู้อื่น โดยการแบ่งกลุ่มตามเวรประจำวันเพื่อดูแลปลา คอยให้อาหารปลาคอยสังเกตการเจริญเติบโตของปลาในแต่ละวันและเห็นการดำรงชีวิตของปลา และมีมุมให้เล่นเกม เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน นั่นก็คือ มุมเกมตกปลา เกมตก-ปลา จะมีสัตว์น้ำต่างๆ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลาชนิดต่างๆ

วิธีการเล่น

  1. เข้าได้ครั้งละ 3 คน
  2. นำเบ็ดตกปลาหย่อนลงในน้ำและจับปลาขึ้นมา
  3. นับจำนวนปลาที่ตกได้กี่ตัว เป็นกุ้งกี่ตัว เป็นหอยกี่ตัว
  4. บันทึกโดยการวาดภาพจำนวนที่ตกได้

ผลสะท้อนจากโครงงาน

จากการบันทึกสมุดสายสัมพันธ์และการพูดคุยสนทนากับผู้ปกครอง ผู้ปกครองบอกว่าลูกๆ สนใจเกี่ยวกับโครงงานสัตว์น้ำมาก เพราะเวลาพาไปเที่ยวดูสัตว์น้ำ ลูกๆ ก็จะสนใจอ่านชื่อปลาชนิดต่างๆ และจำได้แม่นด้วยและเวลาพาไปรับประทานอาหารตามร้านอาหารต่างๆ ลูกๆ ก็จะสั่งเมนูเกี่ยวกับปลารับประทานกันเยอะ และบอกว่าอร่อยมากคะ และมีบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าปลามีประโยชน์มากมาย ทำให้เราฉลาด แข็งแรงและเจริญเติบโต